วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รู้จักทักทาย



ฟ้าทะลายโจรเป็นไม้ล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย และมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น คนกรุงเทพฯ อาจเรียกว่า ฟ้าทะลาย น้ำลายพังพอน หรือหญ้ากันงู ชาวบ้านแถบพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เรียกว่า ฟ้าสาง คนโพธาราม ราชบุรี  เรียกว่า เขยตายแม่ยายคลุม ชาวร้อยเอ็ดเรียกว่า สามสิบดี ยะลาเรียกว่า เมฆทะลาย ชาวพัทลุงเรียกว่า ฟ้าสะท้าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata Wall. Ex Nees
การที่ได้ชื่อว่าฟ้าทะลายหรือฟ้าสะท้าน มีผู้วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรไม่ว่าจะเป็น เมล็ด ใบ ดอก กิ่ง ผล ต้น ราก ต่างให้รสขมที่ชาวอินเดียเรียกว่า มหาติตติกะ ซึ่งแปลว่า เจ้าแห่งรสขม หรือ king of bitters สารที่ทำให้ฟ้าทะลายโจรขมมาก จนได้สมญานามว่าเจ้าแห่งความขม คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (andogra-pholide) เพราะขมถึงขนาดที่ว่าบางคนได้ยินเสียงลั่นดังเปรี๊ยะในหูเหมือนฟ้าถล่มทลาย จึงเป็นที่มาของชื่อ ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรเจริญทั่วไปในดินทุกชนิด พบขั้นอยู่ในทั้งป่าดงดิบและริมถนน ขนาดสูงประมาณเข่า ดอกสีขาว โคลนกลีบดอกติดกัน ที่ปลายยอดดอกมีสีม่วง ผลเป็นฝักเขียว แก่จัดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแตก เป็นสองซีก ภายในมีเมล็ดรูปร่างสี่เหลี่ยมสีเหลืองน้ำตาลหลายเมล็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปลูกได้ทุกฤดูกาล
หลังปลูก3-4 เดือน ก็เก็บใบและลำต้นเหนือดินมาใช้เป็นยาได้ช่วงเวลาที่เก็บทำยา ควรเป็นช่วงที่เริ่มออกดอก ซึ่งเป็นช่วงที่รสขมจัด

ฟ้าทะลายโจรมิได้เป็นเฉพาะสมุนไพรของไทยเท่านั้น หากกระจายอยู่ทั่วทวีปเอเชีย ชาวอินเดียเรียก Kalmegh จีนเรียก Chuan Xin Lian มาเลเซียเรียก Hempudu Bumi และยังพบในทวีปอเมริกาด้วย แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าเป้นการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติหรือมีผู้นำเข้าไปปลูก

อ้างอิง:สุดยอดสมุนไพรเพื่อสุขภาพ;โดยเภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์;จัดพิมพ์โดยบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด(มหาชน):พิมพ์ที่บริษัทพิมพ์ดีจำกัด กรุงเทพฯ 10160

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น